Sunday, March 13, 2016

Enzyme for soil

การฟื้นฟูคุณภาพดิน ล้างพิษดิน และสูตรปุ๋ยน้ำหมักจาก พืช และสัตว์ ......เลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช ..... 
รากของพืช กินอาหาร แร่ธาตุ จากดินโดยตรงไม่ได้ ต้องอาศัยจุลินทรีย์ซึ่งเกาะอยู่ที่รากเป็นคนเคี้ยว แล้วป้อนให้รากของพืชอีกครั้งหนึ่ง แต่จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ที่รากของพืชที่เราต้องการจะไม่ค่อยแข็งแรง มีความต้านทานน้อยกว่าจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ที่รากของวัชพืช แล้วแถมจุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้ยังใจเสาะ ตายง่ายเสียอีก โดนแดดจังๆ ก็ตาย โดนปุ๋ยเคมีก็ตาย(เพราะโดนดูดน้ำออกจากตัว) โดนยาฆ่าหญ้าก็ตาย(เพราะเป็นพิษ) 
ดังนั้นการที่จะบำรุงให้พืชของเรางอกงามก็ต้องทำให้จุลินทรีย์ที่รากของพืชของเรามีจำนวนมากๆ และปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้จุลินทรีย์เหล่านี้อยู่อย่างมีความสุข ขยายพันธุ์ต่อ ต่อไปได้มากๆ ก็โดย
– คลุมดิน จุลินทรีย์ที่ดีเหล่านี้ชอบอยู่ในที่มืด ร้อน และชื้น(แต่ไม่ใช่แฉะ) ดังนั้นการใช้ฟาง หรือหญ้าคลุมโคนต้นไม้จึงเป็นการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับจุลินทรีย์……..และยังเก็บกักความชื้นให้กับพืชในหน้าแล้ง และช่วยชลอไม่ให้น้ำฝนพัดพาสิ่งที่มีประโยชน์ไปในหน้าฝน ได้ดีอีกด้วยครับ…….
– เลิกใช้ปุ๋ยเคมี เพราะปุ๋ยเคมีจะดูดน้ำจากรอบตัวเพื่อละลาย ปลดปล่อยอิออนจากตัว…….จุลินทรีย์ของเราก็จะพลอยโดนดูดน้ำออกจากตัวไปด้วย….ตาย…สนิท…ครับ แล้วยังมีพวกสารผสมในปุ๋ยที่ไม่เกี่ยวกับพืช (แต่ทำให้ได้น้ำหนัก ได้เปอร์เซนต์ตามกฎหมาย) แต่ตกค้างเป็นพิษกับจุลินทรีย์อีก……ตกค้างมากๆ ก็เป็นพิษกับพืชได้อีกนาครับ……..
– เลิกใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าหญ้าเป็นพิษและส่งผลกระทบมหาศาล ที่ชัดเจนที่สุดในสวนยาง เปลือกต้นยางจากพื้นดินจนถึงประมาณ 30 ซม. หน้ายางแห้ง ไม่มีน้ำยางเลย แม้จะเลิกมา 2 ปีแล้วก็เถิด คงไม่ฟื้นคืนอีกแล้ว
– ใส่ปุ๋ยแห้งชาม แห้งชามคือใส่ปุ๋ยหมักแห้ง ความถี่ของการใส่ปุ๋ยหมักแห้งคือประมาณ “เดือนละครั้ง”
– ใส่ปุ๋ยน้ำชาม คือ ใส่ปุ๋ยหมักน้ำ จะใช้รดพื้นดิน หรือฉีดพ่นอาบ ใบ ลำต้น ไปเลยก็ไม่ผิดกติกา หรือ พวกผัก ไม้เตี้ย ไม้ลงหัว จะใส่ฝักบัวรดไปเลยก็ได้ ความถี่ของการใส่ปุ๋ยน้ำ ก็ทุก 1 – 2 สัปดาห์ นอกนั้นรดน้ำเปล่า
– ปริมาณของชามแห้ง และชามน้ำ ก็กะประมาณเอาเองตามขนาดของพืชของเรา เช่น ต้นยางกรีดแล้ว จะใส่เดือนละ 1 กำมือก็กระไรอยู่……พริกขี้หนู ถ้าจะใส่เดือนละกิโลก็เกินเหตุ….
สร้างโรงงานผลิตปุ๋ย (ปุ๋ยน้ำหมักจากจุลินทรีย์)
การทำปุ๋ยใช้เอง เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยใช้วัตถุดิบที่เราหาได้ง่ายๆ มาทำ ก่อนอื่นเราต้องสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยของเราไว้ใช้เองเสียก่อน
การลงทุนสร้างโรงงานระยะแรกต้องตั้งงบประมาณไว้ เป็นค่าถังหมัก ค่าหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ซื้อใช้เถิด ไม่ต้องมัวไปเพาะเองอยู่) 1 ลิตร และค่าน้ำตาลทรายแดง 1 ก.ก.
โรงงานผลิตปุ๋ย ก็คือ จุลินทรีย์ เบื้องต้นเราซื้อมาใช้ 1 ลิตร แล้วนำมาหมักขยายก่อนจะได้เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์ประมาณ 22 ลิตร ถ้าอยากได้มากกว่านั้น ก็เอาหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่หมักขยายไว้แล้วนี้หมักขยายต่อไปได้อีกเรื่อยๆ จุลินทรีย์ที่หมักขยายแล้วนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการทำปุ๋ยทั้งปุ๋ยหมักแห้ง และปุ๋ยหมักน้ำ ต่อจากนี้ไปคำว่า “หัวเชื้อจุลินทรีย์” จะหมายถึงจุลินทรีย์ที่หมักขยายเรียบร้อยแล้ว ไม่ต้องวิ่งไปซื้อใหม่ลิตรละร้อยอยู่ทุกครั้งที่จะหมักปุ๋ย
จุลินทรีย์ที่หมักขยายแล้วนี้ยังไม่ใช่ปุ๋ย จะเอาไปรดต้นไม้ก็คงไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก ได้แต่จุลินทรีย์กับน้ำตาลนิดหน่อย ใจเย็นๆ สร้างโรงงานผลิตก่อน แล้วเดี๋ยวค่อยว่ากันต่อถึงขบวนการผลิตปุ๋ยต่อไป
หัวเชื้อจุลินทรีย์ที่จะนำมาหมักขยาย เพื่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย หรือจะใช้แบบที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด
ถังที่ใช้หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ ใช้ถังพลาสติกสิดำ หรือสีน้ำเงิน แบบมีเข็มขัดรัดฝา ความจุประมาณ 20 – 30 ลิตร ล้าง ทำความสะอาดให้เรียบร้อย
น้ำตาลทรายแดงที่จะใช้หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ ในตลาดใกล้บ้าน จุถุงละ 0.5 ก.ก. เราใช้ 1 ก.ก. ก็ซื้อมา 2 ถุง
ใส่น้ำสะอาดลงไปในถังหมัก 20 ลิตรครับ……จะเป็นน้ำประปา น้ำฝน น้ำบ่อ น้ำคลอง ยกเว้นน้ำทะเล…..แต่ถ้าเป็นน้ำประปาต้องขังไว้ให้คลอรีนระเหยไปให้หมดก่อน
เพื่อความรวดเร็วในการละลายน้ำตาลทรายแดง ผมเลยตักน้ำจากในถังหมักออกมา 2 ขัน ใส่หม้อตั้งไฟพออุ่นๆ ใส่น้ำตาลทรายแดงลงไปทั้งสองถุง คนจนละลายหมด แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น แล้วก็เทกลับลงไปในถังหมัก คนให้เข้ากันดี
เทหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร ที่เตรียมไว้แล้วลงไปในถังหมัก แล้วก็คนให้เข้ากันอีกครั้งหนึ่ง
ปิดฝาถัง รัดเข็มขัดล็อค แล้วติดป้ายบอกไว้เสียหน่อย แล้วก็เก็บไว้ในที่ร่ม เย็น ไม่ให้โดนแสงแดด ประมาณ 10 – 15 วัน ก็นำไปหมักขยายต่อ หรือจะนำไปใช้ในการผลิตปุ๋ยก็ได้แล้ว
เมื่อเปิดฝาถังขึ้นมา แล้วได้กลิ่นหอมคล้าย คล้าย ไวน์ ที่ผิวหน้ามีฝ้าขาว ขาว ลอยอยู่ แสดงว่าถูกต้องแล้ว
การผลิตปุ๋ยหมักน้ำ
เมื่อเราสร้างโรงงานผลิตปุ๋ย (หมักขยายเชื้อจุลินทรีย์จนได้ที่แล้ว) คราวนี้ก็ถึงทีที่จะเดินเครื่องผลิตอาหารเลี้ยงดิน เพื่อให้ดินเลี้ยงพืชของเราต่อ
อาหารเลี้ยงดินที่เราจะผลิต และใช้กับพืชผลของเรา มีอยู่ 2 ชนิด ที่จำเป็น และเราจะต้องใช้ร่วมกัน คือปุ๋ยหมักแห้ง และปุ๋ยหมักน้ำ
ความถี่และปริมาณของการให้อาหารจะขึ้นอยู่กับประเภทของพืช เช่น
– ไม้ผล จะให้ปุ๋ยหมักแห้งเดือนละ 1 ครั้ง ปริมาณ 1 – 2 ก.ก. และรดปุ๋ยหมักน้ำ 1 – 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง นอกจากนั้น รดด้วยน้ำธรรมดา และอาจจะฉีดพ่น ใบ ลำต้น ด้วยน้ำส้มควันไม้(มีฮอร์โมนพืช) สลับกับน้ำหมักเปลือกกุ้ง กากปู(มีสารไคโตซาน) 1 – 2 เดือนต่อครั้ง
– ผักอายุสั้น อาจจะให้ปุ๋ยหมักแห้งสัปดาห์ละครั้ง แต่ปริมาณน้อยๆ และรดปุ๋ยหมักน้ำทุกวัน(ผสมเจือจางมากๆ)
สิ่งสำคัญก็คือการสังเกต เรียนรู้ หมั่นทดลอง ของเรานะครับ เพราะว่าการทำเกษตรไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว และยังมีตัวแปรที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย
การทำปุ๋ยหมักน้ำ
วัตถุดิบที่นำมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักน้ำ หลักๆ จะมีอยู่ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก ได้แก่ พืชสด ซึ่งแบ่งเป็นประเภทได้อีก 7 ประเภท ตาม รส และกลิ่น ของพืชสดที่ใช้ สรรพคุณของน้ำหมักที่ได้ก็จะต่างกันไปตามคุณสมบัติแต่ละประเภท ส่วนพืชแห้งไม่เหมาะที่จะนำมาทำปุ๋ยหมักน้ำ เหมาะที่จะนำไปทำปุ๋ยหมักแห้งมากกว่า
1. พืชรสจืด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักตบชวา บัว ผักกะเฉด จอก แหน ผักต่างๆ ที่บริโภคในครัว และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ปรับสภาพดิน ช่วยล้างพิษตกค้างในดิน บำรุงดิน ใช้ในการบำบัดน้ำเสีย
2. พืชรสขม ได้แก่ บอระเพ็ด ฟ้าทะลายโจร ลูกใต้ใบ ขี้เหล็ก มะระ และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ สร้างภูมิคุ้มกันให้กับพืช หรือใช้ผสมน้ำดื่มให้สัตว์เลี้ยงจะทำให้สัตว์เลี้ยงสุขภาพดีขึ้น กลิ่นมูลสัตว์ลดลง
3. พืชรสฝาด ได้แก่ กล้วยดิบ เปลือกผลมังคุด เปลือกแค หมาก และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ช่วยป้องกันเชื้อรา
4. พืชรสเมาเบื่อ ได้แก่ กลอย สะเดา สแยก(สะ-แหยก) ผักคูน หางไหลแดง น้อยหน่า ยาฉุน และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ไล่แมลงศัตรูพืช
5. พืชรสหอมระเหย ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระเพรา ชะพลู มะกรูด โหระพา กานพลู ยูคาลิปตัส และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ ยกเว้นไม่ควรทำใช้งานนะครับ ยิ่งเป็นสวนไม้ผลยิ่งอันตรายครับ เพราะกลายเป็นดึงดูดแมลงวันทองให้เข้ามาหา
6. พืชรสเผ็ดร้อน ได้แก่ พริก ดีปลี เครื่องแกง และ ฯลฯ
สรรพคุณ ไล่แมลง ทำให้แมลงแสบร้อน ระคายผิว
7. พืชรสเปรี้ยว ได้แก่ ตะลิงปิง มะเฟือง มะนาว มะม่วง(เปรี้ยว) มะไฟ และ ฯลฯ อีกมากมาย
สรรพคุณ มีฤทธิ์เป็นกรดทำให้ไข่ของแมลงฝ่อ หรือตัวอ่อนฝ่อไม่สามารถเติบโตได้
กลุ่มที่สอง ได้แก่ สัตว์ หรือผลิตผลจากสัตว์ ที่นิยมนำมาทำปุ๋ยหมักน้ำ ได้แก่…..
1. ปลา ทั้งปลาน้ำจืด และปลาทะเล จะได้ทั้ง โปรตีน กรดอะมิโน ธาตุอาหารหลัก ( N, P, K) ธาตุอาหารรอง (แคลเซี่ยม, โบรอน, สังกะสี, ทองแดง ฯลฯ ครบครัน)
2. เปลือกกุ้ง กากปู นอกจากธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรองครบครันแล้ว ยังได้สารไคโตซาน ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้พืชอีกด้วย
3. หอย เช่น หอยเชอรี่จากในนาข้าว หอยทากจากในสวน เป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาส นอกจากลดจำนวนประชากรศัตรูพืชแล้ว ยังได้ปุ๋ย โปรตีน แคลเซี่ยม ไว้ใส่ต้นไม้อีก
วิธีการทำปุ๋ยหมักน้ำ
ก่อนอื่นก็ต้องมีถังหมัก ต้องใช้ถังแบบมีเข็มขัดรัดฝาเหมือนกับถังหมักขยายเชื้อจุลินทรีย์ แต่คราวนี้เลือกขนาดถังตามใจชอบ ขอแค่ตรวจสอบดูว่าเป็นถังแบบที่ล็อคฝาได้แน่นหนาพอสมควร (มีถังใส่สารเคมีในโรงงานแบบเป็นผง เข็มขัดจะรัดฝาได้ไม่แน่น และฝาไม่ค่อยแข็งแรง ร้านค้าจะขายในราคาถูกกว่าถังบรรจุของเหลวมาก ไม่แนะนำให้ใช้ ใช้แบบถังบรรจุของเหลวดีกว่า)
อัตราส่วนผสม ตัวเลขนี้สำหรับถัง 20 ลิตร ถ้าใช้ถังใหญ่กว่านี้เช่นถัง 60 ลิตร ก็คูณ 3 เข้าไปได้เลย
1. พืชชนิดที่ต้องการหมัก มาสับ, ตำ, หั่น, ปั่น ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ 3 กิโลกรัม
ให้แยกชนิดพืชทั้ง 7 ประเภท ไม่ควรนำมาหมักรวมกันนะครับ เพราะสรรพคุณจะลดลง ในกรณีพืชรสจืดจากผักก้นครัวอาจจะอนุโลมหมักผักกาด รวมกับคะน้า รวมกับผักบุ้ง รวมกับผักเหลียง ได้ แต่ให้แยกพริก มะกรูด โหระพา สะระแหน่ กระเพรา ออก
2. กากน้ำตาล หรือน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม
กากน้ำตาลจะราคาถูก แต่ต้องใช้เวลาหมักนานกว่า ต้องหมักไว้ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพื่อให้สารทาร์ ในกากน้ำตาลลดความเป็นพิษลงจนปลอดภัยต่อพืช จึงจะนำไปใช้ได้ ถ้าใช้น้ำตาลทรายแดง หมักไว้ประมาณ 1 เดือนก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว แต่หลังจากพ้นระยะปลอดภัยไปแล้ว ยิ่งหมักไว้นานยิ่งดี
3. หัวเชื้อจุลินทรีย์(ที่หมักขยายไว้แล้ว) 1 ลิตร
4. น้ำสะอาด 10 ลิตร
วิธีการหมัก
เทน้ำสะอาด กากน้ำตาล และหัวเชื้อจุลินทรีย์ ลงในถังคนให้กากน้ำตาลละลายน้ำให้หมด……ถ้าให้ดี ใช้มือล้วงลงไปตรวจสอบที่ก้นถังด้วย เพราะกากน้ำตาลละลายน้ำยากเหมือนกัน
นำพืชที่ต้องการหมักใส่ลงไปในถัง คนให้ทั่ว และกดให้พืชจมน้ำให้หมด สังเกตว่าจะมีช่องว่างเหนือผิวน้ำถึงฝาถังประมาณ 20 % อย่าหมักจนเต็ม หรือเกือบเต็มถัง
ปิดฝาถัง ล็อคให้สนิท เก็บไว้ในที่แห้ง เย็น ไม่โดนแสงแดด ทิ้งไว้สัก 3 เดือนก่อน
ระยะแรกๆ คอยเปิดฝาถังดู สัก 3 – 5 วัน/ครั้งนะครับ เพราะพืชจะลอยขึ้นเหนือน้ำ ต้องคอย คน และกดให้จมน้ำอยู่เสมอๆ ผ่านไปสักเดือนก็จะจมหมดเอง คราวนี้ก็ปล่อยได้เลย
หมายเหตุ ถ้าหมักกลุ่มที่ 2 (เนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์) ก็ใช้วิธีเดียวกันกับพืช แต่ต้องเพิ่มกากน้ำตาลเป็น 3 กิโลกรัม เท่านั้นเอง ถ้ากากน้ำตาลน้อยจะมีกลิ่นเหม็น + มีหนอน
น้ำหมักเหล่านี้เป็นอาหารทางด่วน ทางใบที่ดีอีกอย่างหนึ่งด้วย
มียกเว้นพืชประเภทหนึ่งครับ คือ สะระแหน่ ไม่ชอบน้ำหมัก รดเมื่อไหร่ก็เดี้ยงเมื่อนั้น แต่ชอบน้ำล้างปลา มากๆ การจะรด หรือฉีดพ่นน้ำหมักรสเมาเบื่อ ควรจะดูเวลาแมลงด้วย ส่วนใหญ่จะมาตอนเช้ามืด เราก็ฉีดเสียตั้งแต่ 4 – 5 นาฬิกา
ที่มา;http://www.monmai.com/%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%89…/

Pepper

พริกไทย...พืชนอกสายตา แต่ไม่ธรรมดา!!
หากพูดถึงแหล่งปลูกพริกไทยของบ้านเราแล้วล่ะก็เป็นต้องนึกถึงภาคตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดจันทุบรี ซึ่งเป็นแหล่งปลูกพริกไทยแหล่งใหญ่และเก่าแก่ของบ้านเรามายาวนาน พื้นที่อื่นแทบจะไม่มีการปลูกกันเลย 
แต่วันนี้เราจะพาไปดูพริกไทยที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นพืชต่างถิ่นที่เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ได้ไม่นานและมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่นี่ พืชเศรษฐกิจสำคัญของที่นี่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งยาสูบ มะนาว นาข้าว สวนพริกไทยของที่นี่เกิดจากความคิดต่างของ ดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์ สิริถาวรวิวัฒน์ ที่มองหาพืชที่จะสร้างรายได้ที่ดีในอนาคต โดยทั้งสองคนยังทำงานรับราชการด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นพืชที่เลือกปลูกนอกจากจะสร้างรายได้ที่ดีแล้ว ยังต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นพืชที่ดูแลไม่มาก ต้องเป็นพืชยืนต้นที่มีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนาน ไม่ต้องมาปลูกบ่อยๆ พริกไทยดูจะเป็นพืชนอกสายตาและไม่เคยอยู่ในวิถีชีวิตของทั้งคู่ซึ่งเป็นชาวอุตรดิตถ์ ที่คุ้นเคยกับพืชพวกทุเรียน ลางสาด แต่หลังจากที่ศึกษาข้อมูลโดยเฉพาะด้านราคาแล้ว ดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์มองว่า พริกไทยเป็นพืชที่น่าสนใจเพราะราคาพริกไทยไม่เคยตกต่ำลงมาเลย พริกไทยราคาดีมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีติดต่อกัน โดยเฉพาะในช่วงแล้งราคาพริกไทยสูงมาก ราคาสูงถึง 450-600 บาท 
ทั้งสองท่านศึกษาข้อมูลการปลูกทางอินเตอร์เน็ตและไปศึกษาดูงานการปลูกพริกไทยในแปลงปลูกจริงที่ อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นเพียงสวนพริกไทยสวนเดียวในพื้นที่เขตนี้ซึ่งปลูกมานานหลายปีแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี พร้อมกับสั่งซื้อกิ่งพันธุ์จากที่นี่ด้วย โดยดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์ปลูกไปทั้งหมด 480 หลัก หรือประมาณ 200-250 หลัก/ไร่ ที่นี่ใช้ระยะปลูก 2.5x2.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะปลูกที่ห่างกว่าการปลูกพริกไทยในเขตจันทบุรี ซึ่งนิยมใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร คุณนรัญภรณ์ บอกว่า พริกไทยที่ปลูกเป็นพันธุ์ซีลอนซึ่งเป็นพริกไทยที่นิยมบริโภคเป็นพริกไทยสดหรือพริกไทยอ่อนที่มีทรงพุ่มใหญ่ ต้นใหญ่ ใบใหญ่กว่าพริกไทยทางเขตจันทุบรีซึ่งนิยมปลูกพริกไทยแห้งกัน อีกทั้งระยะปลูกที่ห่างขึ้นจะทำให้สะดวกในการทำงานมากขึ้นด้วย
หลังจากปลูกปีแรกพริกไทยให้ผลผลิตที่ดี ก็เริ่มมีคนสนใจปลูกพริกไทยกัน อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟสบุ๊ค (พริกไทยซีลอน ไร่ดาบบรรพต) และแฟนเพจ ก็มีคนสนใจกันมาก และมีการสั่งซื้อกิ่งพันธุ์กันเข้ามาเป็นจำนวนมาก ปีแรกขายกิ่งพันธุ์ไปกว่า 3,000 กิ่ง ราคากิ่งพันธุ์ 15 บาทถ้าเป็นกิ่งตอนตัดตุ้ม แต่ถ้าเป็นกิ่งชำราคา 20 บาท โดยการผลิตกิ่งพันธุ์จะเน้นทำในช่วงฝน ซึ่งช่วงนี้จะถือโอกาสพักต้นด้วย บำรุงต้นให้เจริญเติบโตเต็มที่เพื่อให้ต้นแตกกิ่งก้านเพื่อผลิตกิ่งพันธุ์ที่สมบูรณ์และคุณภาพดี
คุณนรัญภรณ์ เล่าถึง การปลูกพริกไทยว่า หลายคนมองข้ามและให้ความสนใจในการปลูกพริกไทยกันน้อยนั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในช่วงแรก โดยเฉพาะต้นทุนค่าเสาค้างที่ลงทุนค่อนข้างหนัก ซึ่งจะใช้เสาปูนขนาดหน้า 4 สูง 3 เมตร ค่าเสาต้นละ 200 บาท ลงทุน 400 หลัก ก็เกือบ 2 แสนบาท ตั้งแต่การเตรียมแปลง ค่าเสา ค่าต้นพันธุ์ ค่าระบบน้ำ ค่าแรงงานและอื่นๆ ทั้งหมด การปลูกจะปลูกค้างละ 3 ต้น แต่ถ้าปลูก 4 ต้นพริกไทยจะเดินเต็มค้างเร็วกว่า
ในส่วนของการดูแลพริกไทยนั้นคุณนรัญภรณ์บอกว่า ไม่ว่าจะปลูกพืชอะไรก็ตามชาวสวนควรจะมีการตรวจสอบสภาพดินก่อนปลูก เพื่อที่จะให้ปุ๋ยได้ตรงกับสภาพดินและลดต้นทุนการให้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็น คุณนรัญภรณ์เองในครั้งแรกก็ไม่ได้มีการตรวจสภาพดินเช่นกัน จึงเจอปัญหาพอสมควรเพราะไม่ได้ปรับสภาพดินก่อนปลูกให้ตรงกับความต้องการของพริกไทย แต่ก็มีการตรวจในช่วงหลังและค่อยๆปรับมาเรื่อยๆ พริกไทยชอบดินที่มีความเป็นกรดด่างประมาณ 5.5-6.5 ระหว่างแถวพริกไทยปลูกแฝกเพื่อดูดซับน้ำและปรับสภาพดินไปด้วย มีการให้ปุ๋ยคอกทุก 3 เดือน ครั้งละประมาณ 1 ถุงปุ๋ยต่อหลัก การใส่ปุ๋ยคอกจะเกลี่ยให้เป็นบริเวณกว้างในรัศมีของทรงพุ่ม ห่างจากโคนต้นประมาณ 1 คืบ ไม่ให้ปุ๋ยคอกกระจุกตัวอยู่บริเวณโคนต้นซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรครากเน่าโคนเน่า ส่วนปุ๋ยเคมีจะผสมปุ๋ยใช้เองจากแม่ปุ๋ย 3 ชนิดคือ 46-0-0,18-46-0,0-0-60 ในช่วงต้นเล็กก็จะบำรุงต้นด้วยปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 พอออกช่อเปลี่ยนมาให้สูตรตัวกลาง ตัวท้ายสูง 8-24-24 หลังออกช่อแล้วติดเม็ดขนาดเล็กใช้ 30-7-25 เพื่อบำรุงเม็ดให้ขยายขนาด โดยปุ๋ยเคมีจะให้เดือนละครั้ง ส่วนของโรค-แมลงก็มีรบกวนบ้าง ที่เจอบ่อยก็จะเป็นเพลี้ยแป้ง การป้องกันกำจัดจะเลือกใช้วิธีธรรมชาติก่อนโดยใช้น้ำส้มสายชู+น้ำยาล้างจาน+ยาสูบ หมักไว้ 1 คืน ก็ใช้ฉีดพ่นได้ แต่ถ้าระบาดหนักก็ต้องพ่นสารเคมีบ้างเป็นครั้งคราวเหมือนกัน
พริกไทยจะเริ่มให้ผลผลิตหลังปลูกประมาณ 10-14 เดือน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะให้ผลผลิตที่อายุ 14 เดือน สำหรับพริกไทยที่ได้รับการดูแลเรื่องน้ำและปุ๋ยอย่างดีของสวนที่นี่ อายุ 10 เดือนก็เริ่มเก็บผลผลิตได้แล้ว อายุ 14 เดือนเก็บผลผลิตไปได้ 200 กก. แล้ว พริกไทยจะให้ผลผลิตตลอดทั้งปี แต่จะให้ผลผลิตรุ่นใหญ่ปีละ 2 รุ่น รุ่นแรกเริ่มเก็บประมาณ ม.ค.-ก.พ. พริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้จะให้ผลผลิตน้อยประมาณ 1 กก./หลัก(ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน/รุ่น) เพราะช่วงนี้ค่อนข้างแล้ง รุ่นที่ 2 เก็บประมาณ มิ.ย. –ก.ค. โดยพริกไทยที่ออกช่อช่วงนี้ จะให้ผลผลิตสูงกว่าพริกไทยที่ออกช่วงแล้ง คือ ประมาณ 3 กก./หลัก (ในช่วงการเก็บเกี่ยว 3-4 เดือน/รุ่น) โดยพริกไทยที่ออกช่อ 1 รุ่นจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานประมาณ 4 เดือน คุณนรัญภรณ์บอกว่า จากข้อมูลการให้ผลผลิตของสวนพริกไทยโดยทั่วไป พริกไทยอายุ 2-3 ปี จะให้ผลผลิต 10 กก./หลัก/ปี คิดรายได้โดยประมาณไว้ที่หลักละ 1,000 บาท/ปี หรือประมาณ 200,000-250,000 บาท/ไร่/ปี นับว่าเป็นรายได้ที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว

ผลผลิตพริกไทยของสวนจะส่งเข้ามายังตลาดไทเป็นหลัก โดยพริกไทยรุ่นแรกที่เก็บเกี่ยวไปเมื่อเดือน ม.ค.-ก.พ. ที่ผ่านมา ราคา 90 บาท/กก. พอเข้าช่วงแล้งประมาณเดือน เม.ย. หลายพื้นที่จะขาดน้ำและถ้าพริกไทยขาดนี้ก็จะทำให้พริกไทยไม่ออกช่อ จึงทำให้พริกไทยที่เก็บเกี่ยวในช่วงฝนประมาณเดือน มิ.ย.-ก.ค.มีราคาสูง หลายปีที่ผ่านมามานี้ราคา พริกไทยช่วงนี้สูงถึง 300-400 บาท/กก. เลยทีเดียว ซึ่งทางสวนค่อนข้างได้เปรียบเนื่องจากมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้สวน จึงมีน้ำรดต้นพริกไทยได้ตลอดทั้งปีและทำให้พริกออกช่อได้ในช่วงแล้งและมีผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฝน

วันนี้พริกไทยที่สวนเริ่มเก็บผลผลิต สร้างเม็ดเงินเข้าสวน คุณนรัญภรณ์บอกว่า หลังจากเห็นผลผลิตและรายได้แล้วเธอค่อนข้างมั่นใจว่าเธอเดินมาถูกทางแล้ว และเชื่อมั่นว่าตลาดพริกไทยจะมีความยั่งยืนไปได้อีกยาวนาน เนื่องจากพริกไทยสดยังเป็นที่นิยมใช้ในการประกอบอาหารต่างๆโดยเฉพาะอาหารที่ต้องการความเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นเมนูสุดโปรดของคนที่ชอบอาหารรสชาติจัดจ้านตามแบบฉบับของคนไทย ตลาดพริกไทยน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่พื้นที่ปลูกพริกไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อย เนื่องจากพริกไทยมีการปลูกอยู่เฉพาะในกลุ่มเดิมๆที่คุ้นเคยและปลูกพืชชนิดนี้มานาน พื้นที่ใหม่ๆหรือคนปลูกหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคยกับพริกไทยให้ความสนใจและปลูกพริกไทยเพิ่มขึ้นกันน้อยมาก อาจเป็นเพราะพริกไทยเป็นพืชที่คนทั่วไปมองข้ามความสำคัญกันนั่นเอง เมื่อพื้นที่ปลูกไม่เพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการของตลาดมีมาก จึงทำให้พริกไทยเป็นพืชที่ราคาไม่เคยตกต่ำเลยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
สนใจสั่งซื้อ ดาบพรรบต และคุณนรัญภรณ์ สิริถาวรวิวัฒน์ 52 ม.7 ต.หนองจิก อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย หรือเฟสบุ๊ค พริกไทย ซีลอน ไร่ดาบบรรพต เบอร์โทรศัพท์ 0866862584
ข้อมูลจาก คุณ Rakkaset Nungruethail รักษ์เกษตร