Thursday, February 18, 2016

Pepper

การปลูกพริกไทย
พริกไทย เป็นพืชสมุนไพรเครื่องเทศที่มีความสำคัญอันดับหนึ่งของพืชในกลุ่มนี้ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เป็นทั้งเครื่องเทศ คือช่วยปรุงแต่งกลิ่นรสอาหาร ป้องกันอาหารเน่าเสีย ในด้านของสมุนไพรช่วยย่อยอาหาร ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น ปัจจุบันได้มีการนำพริกไทย มาใช้ในรูปของอาหารเสริมสุขภาพมากขึ้น
++ ปัญหา ข้อจำกัด และ โอกาส ++ 
- ต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะ ค่าแรงงาน และ ค่าเสาค้าง ทำให้ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อมีอำนาจต่อรองในตลาดโลก และทำให้เสียโอกาสในการแข่งขันในด้านการค้าในตลาดโลก 
- การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ามีจำกัดและปริมาณน้อย เนื่องจากวัตถุดิบไม่เพียงพอและต้นทุนสูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ราคาพริกไทยไม่มีเสถียรภาพ ขึ้นอยู่กับราคาในตลาดโลก 
++ พันธุ์พริกไทย ++ 
1. พันธุ์ซาราวัคหรือพันธุ์คุชซิ่ง :พันธุ์ที่ชาวสวนพริกไทยจังหวัดจันทบุรี นิยมเรียกพันธุ์มาเลเซียนั่นเอง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมาก เป็นพันธุ์ที่นำมาจากรัฐซาราวัค ประเทศมาเลเซียสามารถต้านทานโรครากเน่าได้ดีกว่าพันธุ์จันทบุรี ซึ่งปลูกอยู่แต่เดิม เจริญเติบโตได้เร็วและให้ผลผลิตสูงกว่า ถ้าต้นสมบูรณ์จะให้ผลผลิตน้ำหนักสดเฉลี่ย ประมาณ 9-12 กิโลกรัมต่อค้างต่อปี หรือไร่ละประมาณ 3,600-4,800 กิโลกรัมต่อปี แต่ส่วนใหญ่ การเจริญเติบโตในแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ผลผลิตก็แตกต่างกันไป 
ลักษณะประจำพันธุ์ : 
ลำต้น - ลำต้นอายุ 4 ปี มีขนาดของเส้นรอบวงลำต้นเฉลี่ย 9.98 เซนติเมตร ความยาวปล้องของลำต้น เฉลี่ย 8.07 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ยของปล้องของกิ่งแขนงแรก 9.66 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ยของปล้องสุดท้ายของกิ่งแขนง ที่สาม 2.48 เซนติเมตร ความกว้างเฉลี่ยทรงพุ่ม 162.20 เซนติเมตร 
ใบ - ใบเป็นพวกใบเดี่ยว ปลายใบแหลมแบบ acuminate แต่งอเล็กน้อยฐานใบเป็นแบบ obtuse ขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างเรียว ใบมีสีเขียวเป็นมัน ค่อนข้างหนาใบมีขนาดกว้างเฉลี่ย 4.88 เซนติเมตร ยาวเฉลี่ย 10.24 เซนติเมตร ก้านใบยาวเฉลี่ย 1.22 เซนติเมตร มีร่องที่ก้านใบ มีเส้นใบประมาณ 5-7 เส้น 
ดอก - ช่อดอกเป็นแบบ spike ไม่มีก้านดอก ช่อดอกเกิดที่ช่องตรงข้ามกับใบ ในแต่ละข้ออาจมีช่อดอกได้ 1-2 ช่อ แต่ส่วนใหญ่จะเกิดเพียงช่อเดียว ช่อดอกมีลักษณะห้อยลงดินดอกเกิดสับหว่างกันไปเป็นชั้นในแต่ละช่อดอก ช่อดอกยาวเฉลี่ย 6.34 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาวเฉลี่ย 0.67 เซนติเมตร ช่อดอกหนึ่งช่อมีจำนวนเฉลี่ย 64 ดอก ความกว้างของยอดเกสรตัวเมีย (แฉกรูปดาว) เฉลี่ยได้ 0.88 เซนติเมตร รังไข่เป็นแบบ superior ใบมี 1 เซล อับละอองเรณูมีขนาดกว้างเฉลี่ย 0.33 มิลลิเมตร ก้านชูอับละอองเรณูเป็นรูปทรงกระบอก 
ผล - ผลมีลักษณะเป็นช่อ ไม่มีก้านผล ความยาวช่อผลรวมทั้งก้านช่อเฉลี่ย 9.10 เซนติเมตร ความยาวก้านช่อผลเฉลี่ย 0.75 เซนติเมตร ช่อผลหนึ่งช่อมีจำนวนเฉลี่ย 49 ผล ผลมีลักษณะค่อนข้างกลมมีขนาดเล็กกว่าพันธุ์จันทบุรี แต่ใหญ่กว่าพันธุ์ปะเหลี่ยนขนาดของผลด้านแป้นเฉลี่ย 5.69 มิลลิเมตร ด้านกลมเฉลี่ย 5.62 มิลลิเมตร น้ำหนักช่อผลหนึ่งช่อเฉลี่ย 6 กรัม น้ำหนักผลสดต่อ 100 ผล เฉลี่ย 14.43 กรัม ผลเมื่อสุกจะมีสีส้มเป็นส่วนใหญ่ 
เมล็ด - มีลักษณะค่อนข้างกลมขนาดของเมล็ดยาวด้านแป้นเฉลี่ย 0.43 เซนติเมตร ด้านกลมเฉลี่ย 0.42 เซนติเมตร น้ำหนักของเมล็ดแห้งขาวต่อ 100 เมล็ดหนักเฉลี่ย 5.19 กรัมขนาดของเมล็ดแห้งดำด้านแป้น เฉลี่ย 0.50 เซนติเมตร ด้านกลมเฉลี่ย 0.46 เซนติเมตร น้ำหนักของเมล็ดแห้งดำต่อ 100 เมล็ด เฉลี่ย 6.46 กรัม 
2. พันธุ์ซีลอนยอดแดง :เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา นิยมปลูกเพื่อขายเป็นพริกไทยสด มากกว่าทำพริกไทยดำหรือขาวลักษณะของยอดจะออกสีน้ำตาลแดง จึงเรียกกันว่า "ซีลอนยอดแดง" 
ลักษณะประจำพันธุ์ : 
ลำต้น - ลำต้นอายุ 4 ปี มีขนาดของเส้นรอบวงลำต้นประมาณ 11-86 เซนติเมตร ความยาวของปล้องของลำต้นเฉลี่ย 8.2 เซนติเมตร ความยาวของปล้องของกิ่งแขนงแรก 9.82 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ยของปล้องของกิ่งแขนงที่สาม 7.28 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ยของปล้องสุดท้ายของกิ่งแขนงที่สาม 3.24 เซนติเมตร ความกว้างเฉลี่ยทรงพุ่ม 180.60 เซนติเมตร 
ใบ - เป็นพวกใบเดี่ยวปลายใบแหลมแบบ acuminate ฐานใบเป็นแบบ obtuse ขอบใบเรียบ ใบค่อนข้างกว้าง สีเขียวเข้มค่อนข้างหนา ใบมีขนาดกว้างเฉลี่ย 7.22 เซนติเมตร ยาวเฉลี่ย 12.62 เซนติเมตร ก้านใบยาวเฉลี่ย 1.42 เซนติเมตร มีร่องที่ก้านใบมีเส้นใบ ประมาณ 5-7 เส้น 
ดอก - ช่อดอกลักษณะเช่นเดียวกับพันธุ์ซาราวัค ช่อดอกยาวประมาณ 15-17 เซนติเมตรก้านช่อดอกยาวเฉลี่ย 1.12 เซนติเมตร ช่อดอกหนึ่งช่อมีจำนวนดอกเฉลี่ย 106 ดอก 
ผล - ผลมีลักษณะเป็นช่อไม่มีก้านผล ผลมีขนาดใกล้เคียงพันธุ์จันทบุรี มีลักษณะค่อนข้างกลมขนาดของผลด้านแป้นเฉลี่ย 6 มิลลิเมตร ด้านกลมเฉลี่ย 6.24 มิลลิเมตร ผลสดสีเขียวเข้ม ผลสุกมีสีแดงเข้ม ความยาวช่อผลประมาณ 16-19 เซนติเมตร 
เมล็ด - เมล็ดมีขนาดใกล้เคียงกับพันธุ์ซาราวัค 
3. พันธุ์ซีลอนยอดขาว : เป็นพันธุ์พริกไทยที่นำมาจากประเทศศรีลังกา เช่นเดียวกันกับพันธุ์ซีลอนยอดแดง พริกไทยพันธุ์นี้ความจริงเป็นพริกไทยพันธุ์ PANIYUR-1 ซึ่งเป็นพริกไทยพันธุ์ลูกผสมของประเทศอินเดีย ระหว่างพ่อพันธุ์ Uthirankota กับแม่พันธุ์ Cheriyakaniyakadan (John.K.Ghanara tham, 1994) พริกไทยพันธุ์นี้จะมีลักษณะเถาอ่อน สีจะเขียวอ่อนเกือบขาวโดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่า "ซีลอนยอดขาว" เนื่องจากมีผู้นำพันธุ์มาจากประเทศศรีลังกา (ซีลอน) ลักษณะต่าง ๆ จะคล้ายกับพันธุ์ศรีลังกาที่แตกต่างกันชัดเจนก็คือส่วนยอด ช่อผลจะยาวกว่าพันธุ์ศรีลังกาเล็กน้อย การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัค ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัค นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง 
++ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ++ 
- พื้นที่ไม่มีน้ำท่วมขัง สูงจากระดับน้ำทะเล 0-1200 เมตร 
- มีความลาดเอียง 0-25 องศา แต่ถ้าลาดเอียงมากกว่า 15 องศา ควรทำขั้นบันได เพื่อป้องกันการพังทะลายของหน้าดิน 
- ดินร่วน ดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียว มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำได้ดี 
- ความลึกของหน้าดินมากกว่า 50 เซนติเมตร 
- ความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.5-6.5 
- พื้นที่อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือและใต้ อุณหภูมิ 10-30 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝน 1,200-2,500 มิลลิเมตร 
- มีแหล่งน้ำที่สะอาดปราศจากสารพิษเจือปน มีความเป็นกรดด่างอยู่ระหว่าง 5.0-6.5 
++ การเตรียมดิน ++ 
- ป่าเปิดใหม่ ต้องขุดตอ เก็บรากไม้เศษหญ้าออกให้หมดเสียก่อนขุดดิน ตากดินทิ้งไว้ 15 วัน แล้วจึงไถพรวน แล้วปรับหน้าดิน 
- พื้นที่ลาดชันเกิน 15 องศาต้องปรับพื้นที่แบบขั้นบันได 
++ วิธีการปลูก ++การเตรียมกิ่งพันธุ์ ทำได้ 2 วิธี คือ 
- ตัดจากค้างที่สมบูรณ์ เหนือพื้นดิน 50 เซนติเมตร ตัดเป็นท่อนยาว 5-6 ข้อ ตัดกิ่งแขนง ข้อที่ 1-3 ดอก แล้วนำไปปลูกหลุมละ 20 กิ่ง 
- นำกิ่งพันธุ์ที่ตัดเป็นท่อนแล้ว ปักชำในถุงพลาสติก ขนาด 9x14 นิ้ว ประมาณ 2-3 เดือน พริกไทยจะงอกรากและแตกยอด จึงย้ายปลูกในแปลง 
++ ระยะปลูก ++ 
- พันธุ์ซาราวัค (มาเลเซีย) ใช้ระยะ 2x2 เมตร 
- พันธุ์ซีลอน ใช้ระยะปลูก 2.25 x 2.25 หรือ 2.25 x 2.5 เมตร 
++ การปักค้าง ++ 
ใช้ค้างไม้แก่นหรือค้างปูนซีเมนต์ ขนาด 4x4x4 เมตร ฝังลึก 50-60 เซนติเมตร กลบดินให้แน่น หลังจากนั้น ขุดหลุมขนาด 40x60 เซนติเมตร ลีก 40 เซนติเมตร ค้างละ 1 หลุม ห่างจากโคนค้าง 15 เซนติเมตร ผสมดินกันปุ๋ยอินทรีย์ อัตรา 1:1 แล้วใส่ในหลุมประมาณครี่งหลุม นำยอดพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลุกหลุมละ 2 กิ่ง ให้ปลายยอดเอนเข้าหาค้าง กลบดินให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม ใช้วัสดุพลางแสง ประมาณ 3-6 เดือน จนกว่าพริกไทยจะตั้งตัวได้ 
++ การตัดแต่ง ++ 
- ปีที่ 1 เหลือยอดที่สมบูรณ์ไว้ ค้างละ 4-6 ยอด ใช้เถาวัลย์หรือเชือกฟางผูกยอด ให้แนบติดกับค้างโดยผูกขอเว้นข้อ จนกระทั่งพริกไทยอายุ 1 ปี ตัดเถาให้เหลือ 50 เซนติเมตร จากระดับผิวดิน
- ปีที่ 2 ตัดแต่งเช่นเดียวกับปีแรก จนกว่าพริกไทยจะสูงเลยค้างไปประมาณ 30 เซนติเมตร ให้ผูกไว้บนยอดค้าง และใช้เชือกไนล่อนผูกทับเถาวัลย์เดิมเป็นเปลาะ ๆ ห่างกัน 40-50 เซนติเมตร 
- ปีที่ 3 ตัดไหลและปรางบริเวณโคนต้น ปลิดใบที่ลำต้นออก เพื่อให้โคนโปร่ง ถ้าพริกไทยยังไม่ถึงยอดค้าง เด็ดช่อดอกออกให้หมด เพราะจะทำให้พริกไทยเจริญเติบโตช้า 
++ การใส่ปุ๋ย ++ 
- ใส่ dolomite หรือปูนขาว ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 400-500 กรัม/ค้าง ก่อนใส่ปุ๋ยเคมี 2-4 สัปดาห์ โดยเฉพาะในกรณีที่ดินมีสภาพเป็นกรด 
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อัตรา 2-5 กิโลกรัม/ค้าง หรือแบ่งใส่ปีละ 2-3 ครั้ง 
- ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 หรือ 8-24-24 หรือ 12-12-12 +2Mg ดังนี้ 
ปีที่ 1 สูตร 15-15-15 หรือ 12-12-17+2Mg อัตรา 400-500 กรัม/ค้าง 
ปีที่ 2 สูตร 15-15-15 หรือ 12-12-17+2Mg อัตรา 800-1,000 กรัม/ค้าง แบ่งใส่ 3-4 ครั้ง 
ปีที่ 3 และปีต่อ ๆ ไป 
- ครั้งที่ 1 ใช้สูตร 15-15-15 อัตรา 400-500 กรัม/ค้าง ใส่หลังเก็บเกี่ยว 
- ครั้งที่ 2 สูตร 8-24-24 อัตรา 400-500 กรัม/ค้าง ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 
- ครั้งที่ 3 สูตร 12-12-17+2 Mg อัตรา 400-500 กรัม/ค้าง ประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 
++ การให้น้ำ ++ 
- ควรให้แบบ mini sprinkler 
- ระยะเวลาการให้น้ำ หลังปลูกควรรดน้ำทุกวันหรือวันเว้นวัน เมื่อพริกไทยตั้งตัวได้ ลดเหลือ 2-3 วัน/ครั้ง พริกไทยที่ให้ผลผลิตแล้วควรให้ 3-4 วัน/ครั้งตามสภาพดินฟ้าอากาศ 
++ แมลงศัตรูพริกไทย ++ 
1. มวนแก้ววางไข่เป็นกลุ่ม ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่ติดเมล็ด ผลผลิตลดลง ป้องกันโดยการเก็บตัวอ่อนเผาทำลาย ถ้าระบาดรุนแรงฉีดพ่นด้วย มาลาไธออน 50% EC 
ลักษณะและการทำลาย :ตัวอ่อนมีลักษณะสีเหลืองใส มีหนามแหลมสีดำตามลำตัว ตัวเต็มวัยมีลักษณะสีดำ ขนาดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนอกยื่นยาวออกนอกลำตัว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล ไม่ติดเมล็ด ผลผลิตลดลง 
การป้องกันกำจัด : แมลงจำพวกมวน รวมทั้งมวนแก้ว มีพฤติกรรมวางไข่เป็นกลุ่ม เมื่อฟักมาใหม่ ๆ ตัวอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ถ้าพบกลุ่มของตัวอ่อนมวนแก้วให้เก็บเผาทำลาย ถ้ามีการระบาดรุนแรง ให้ใช้สารป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ 
- คาร์บาริล (85 % ดับเบิลยู พี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือมาลาไทออน (57 % อีซี) อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วค้างพริกไทย เมื่อพบมวนแก้วระบาดรุนแรง หยุดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน 
2. ด้วงงวงเจาะเถาพริกไทยตัวอ่อนเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำใหเถาแห้งตาย ส่วนตัวเต็มวัยจะกันกินใบและผลพริกไทย ป้องกันโดยเผาทำลาย เถาพริกไทยที่พบรอยเจาะของหนอนด้วงงวง ถ้าระบาดรุนแรงฉีดพ่นด้วย คาร์บาริล 85% WP 
ลักษณะและการทำลาย : เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 0.5 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลสลับเหลือง ตัวอ่อนจะเจาะทำลายเถาพริกไทย ทำให้เถาแห้งตาย ส่วนตัวเต็มวัยจะกัดกินตามใบ และผลพริกไทย 
การป้องกันกำจัด :สำรวจแปลงพริกไทย ถ้าพบเถาพริกไทยเหี่ยวเฉา และพบรอบเจาะของหนอนด้วงงวง ให้ตัดเผาทำลาย ถ้ามีการระบาดรุนแรง ให้ใช้สารป้องกันกำจัดตามคำแนะนำ 
- คาร์บาริล (85 % ดับเบิลยู พี) อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วค้างพริกไทย เพื่อป้องกันด้วงงวง และเมื่อพบมีการระบาดรุนแรง หยุดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยว 7 วัน

No comments:

Post a Comment