Wednesday, February 17, 2016

coconut info

http://www.oknation.net/blog/horti-asia/2012/10/01/entry-2


การปลูกมะพร้าวน้ำหอม
มะพร้าวน้ำ หอม เป็นพืชที่มีอนาคตในด้านการส่งออก และแปรรูปใน อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม มากขึ้น เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษคือเนื้อมะพร้าวมีรสชาติหวาน กลมกล่อมและมี กลิ่นหอมชื่นใจ สามารถช่วยดับกระหายคลายร้อนได้ดี นอกจากนี้มะพร้าว ก็ได้ ชื่อว่าเป็นผลไม้ที่ปลอดสารพิษชนิดหนึ่ง เนื่องจากเกษตรกรมีการใช้สารเคมี น้อยมาก
ข้อคำนึงในการปลูกมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการค้า :
๑.ต้องมีแหล่งน้ำสำหรับมะพร้าวตลอดปี
๒.พื้นที่ที่จะปลูกต้องทราบว่ามีสภาพดินเป็นอย่างไร โดยการนำดินส่งไปวิเคราะห์ความอุดมสมบูรณ์ pH (ความเป็นกรด เป็นด่างของดิน) เพื่อจะได้รู้ว่าสูตรปุ๋ยที่จะใช้เป็นปุ๋ยสูตรอะไร
๓.ปุ๋ยอินทรีย์ พยายามใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถหาได้ในท้องถิ่น
๔.ควรติดต่อแหล่งที่ขายผลผลิตไว้แต่เนิ่น ๆ
๕.ต้องมีเงินทุนไม่ต่ำกว่าไร่ละ ๑๕,๐๐๐ – ๒๕,๐๐๐ บาท (ตลอด ๕ ปี) เพราะการปลูกมะพร้าวน้ำหอมเพื่อการค้าจะคุ้มทุนในปีที่ ๕
***เมื่อท่านตัดสินใจในการปลูกมะพร้าวน้ำหอมแล้ว ควรปฏิบัติดังนี้คือ วางผังในการจัดแปลงปลูกมะพร้าว ว่าจะปลูกอย่างไรให้มีการให้น้ำได้อย่างสะดวกและทั่ว ถึงมะพร้าวทุกต้นและพอเพียงตลอดจนมีความสะดวก ในการใส่ปุ๋ยและเก็บเกี่ยวผลผลิต
การปลูกมะพร้าวน้ำหอม :
คัดเลือกลักษณะมะพร้าวน้ำหอมที่ดี ต้องเริ่มจากการคัดเลือกลักษณะที่ดีของต้นพันธุ์ ซึ่งมีหลักในการคัดเลือกดังนี้
ใบ มีทางใบสั้นแผ่กระจายรอบลำต้น เมื่อมองทรงพุ่ม จากภายนอก จะคล้ายรูปวงกลม
จั่น มีจั่นอยู่ทุกโคนทางและที่จั่นมีผลมะพร้าวทุกขนาดอายุติดอยู่
ผล มีผลโตสม่ำเสมอทั้งละลาย น้ำหนักผลประมาณ ๙๐๐ กรัมต่อผลผลยาวรีเล็กน้อย และตรงกันเป็นจีบเล็กน้อย น้ำมีรสหวานและกลิ่นหอม เนื้อนุ่มรสชาติกลมกล่อม
ต้น ลำต้นตั้งตรง แข็งแรง อวบ ปล้องถี่
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม :
น้ำฝน ฝนควรตกกระจายสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า ๑,๕๐๐ มิลลิเมตรต่อปี ไม่ควรมีฝนตกน้อยกว่า ๕๐ มิลลิเมตร เกิน ๓ เดือน
สภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิเฉลี่ย ๒๗ องศาเซลเซียส จะสูงหรือ ต่ำกว่านี้ไม่เกิน ๗-๘ องศาเซลเซียส อุณหภูมิไม่ควรเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน
แสงแดด มะพร้าวควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย ๕ ชั่วโมงต่อวัน แสงแดดต้องสาดส่องอย่างเสมอตลอดปี มะพร้าวจะเติบโตได้ดี
ลม ควรมีลมพัดอ่อน ๆ แต่พัดอย่างสม่ำเสมอ
ดิน ไม่เปรี้ยวหรือเค็มจัด จะเป็นดินอะไรก็ ได้ที่มีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอ และความชื้นพอเหมาะ แต่ถ้าเป็นดินน้ำไหลทรายมูลที่เกิดจากน้ำพัดพา มาสะสม เช่น ดินริมแม่น้ำ จะปลูกมะพร้าวได้ดีที่สุด
ระยะปลูกที่เหมาะสม :
ระยะปลูกที่เหมาะสมในการปลูกมะพร้าวน้ำหอม คือ ระยะระหว่างต้น x ระยะระหว่างแถว ๖x๖ เมตร
การเตรียมหลุมปลูก :
ควรเตรียมหลุมปลูกในฤดูแล้ง ขุดหลุมขนาด ๕๐x๕๐x๕๐ เซนติเมตร แยกดินส่วนบนไว้ต่างหาก ตากลุมอย่างน้อย ๑ สัปดาห์ถ้ามีปลวกให้เผาเศษไม้ ใบไม้แห้งในหลุม หรืออาจใช้ยากันปลวกโรยก้นหลุมก็ได้ ถ้าปลูกมะพร้าวในพื้นที่แห้งแล้งหรือดินที่ปลูกเป็น ทรายจัดให้ใช้กาบมะพร้าวก้นหลุม โดยวางกาบมะพร้าวในด้านที่มีเส้นใยหงายขึ้นข้าง บนวางซ้อนกัน ๒-๓ ชั้น เพื่อช่วยเก็บความชื้นในดิน ถ้าไม่มีกาบมะพร้าวจะใช้วัสดุอื่น เช่น ฟางข้าว ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฯลฯ แทนก็ได้ ใส่ดินบนที่ผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักในอัตรา ๑:๗ รองก้นหลุมส่วนดินล่างผสมด้วยปุ๋ยฟอสเฟตหลุมละครึ่งกิโลกรัม (ประมาณ ๒กระป๋องนม) เอาดินใส่ลงในหลุมให้เต็ม ทิ้งไว้จนถึงฤดูปลูก
วิธีการคัดเลือกพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ :
   มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์แท้ ผลมะพร้าวที่เพาะจนแทงต้นอ่อนออกมาแล้วเปลือก ของผลมะพร้าวจะย่นเป็นริ้ว ๆ ขณะที่มะพร้าวที่กลายพันธุ์เปลือกมะพร้าวจะเรียบไม่ย่น หรือสังเกตที่ต้นอ่อนที่กลายพันธุ์สีของก้านใบจะออกสีแดง แต่ถ้าเป็นหน่อพันธุ์แท้จะเป็นสีเขียว อีกวิธีก็คือขยี้ปลายรากมะพร้าว ดมดูหากมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตยเป็นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมแท้
วิธีการปลูก :
- ควรปลูกในฤดูฝน
- ขุดดินบนหลุมปลูกที่เตรียมไว้ให้เป็นหลุมเล็ก ๆ ขนาดเท่าผลมะพร้าว
- เอาหน่อที่คัดเลือกแล้วมาตัดรากที่หักช้ำออก ใช้ปูนขาวหรือยากันเชื้อราทาตรงรอยตัด วางหน่อลงในหลุม ให้หน่อตั้งตรง หันหน่อไปในทิศทางเดียวกัน
- กลบดินอย่างน้อย ๒/๓ ของผล หรือให้มิดผลมะพร้าวพอดีแต่ระวังอย่า ให้ดินทับโคนหน่อ เพราะจะทำให้หน่อถูกรัด ต้นจะโตช้าแต่เมื่อมะพร้าวโตขึ้นแล้วก็ควรจะกลบ ดินให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันโคนลอย
- เอาไม้ปักเป็นหลักผูกยึดกับต้นให้แน่น เพื่อป้องกันลมโยกเหยียบดินรอบโคนหน่อให้แน่น
- ควรทำร่มให้ในระยะแรก เพื่อลดอัตราการตายเนื่องจากถูกแดดจัดเกินไป
- ในบริเวณที่ปลูกถ้ามีสัตว์เลี้ยงให้ทำรั้วป้องกันสัตว์มาทำลาย
วิธีการให้น้ำ :
ในการปลูกมะพร้าวน้ำหอมในปีแรก ควรใช้น้ำทุกสัปดาห์เมื่อมะพร้าวโตขึ้นอาจให้น้ำทุก ๒ สัปดาห์
วิธีการใส่ปุ๋ยมะพร้าวน้ำหอม :
แม้ว่ามะพร้าวเป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด แต่ปริมาณผลผลิตนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณธาตุอาหาร และสภาพความอุดมสมบูรณ์ของดิน สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินที่เหมาะแก่การ ปลูกมะพร้าวควรอยู่ในช่วงระหว่าง pH ๖-๗ การใส่ปุ๋ยให้พอเหมาะแก่ความต้องการ ของมะพร้าวนั้น ควรนำตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการด้วย ซึ่งพบว่าในปีหนึ่ง ๆ มะพร้าวจะดูดธาตุอาหารไปใช้ดังนี้
ไนโตรเจน ๙.๔๔- ๑๕.๖๘ กิโลกรัมต่อไร่
ฟอสฟอรัส ๔.๓๒ – ๗.๓๖ กิโลกรัมต่อไร่
โพแทสเซียม ๑๓.๖๐ – ๒๐.๒๐ กิโลกรัมต่อไร่
แคลเซี่ยม ๑๓.๖๐ กิโลกรัมต่อไร่
แมกนีเซี่ยม ๕.๖ กิโลกรัมต่อไร่
ในบรรดาธาตุดังกล่าว มะพร้าวจะดูดธาตุโพแทสเซียมไปใช้มากที่สุด โดยประมาณ ๖๒ เปอร์เซ็นต์ของโพแตสเซียมจะถูก นำไปใช้ในการเพิ่มจำนวนผลผลิตของมะพร้าว
ชนิดปุ๋ยที่ใช้ได้ผลและเพิ่มผลผลิตมะพร้าวได้สูงสุด คือ ปุ๋ยเกรด ๑๓- ๑๓ – ๒๑ ปุ๋ยเกรด ๑๒ – ๑๒ – ๑๗ – ๒, แมกนีเซียมซัลเฟต และปุ๋ยหินปูนโดโลไมท์ตามลำดับ ในการใช้ปุ๋ยนั้น ให้พิจารณาถึงสภาพความเป็นกรดเป็น ด่างของดินด้วย กล่าวคือ ในสภาพดินที่มีความเป็นด่างให้ใส่ปุ๋ยแมกนีเซียมซัลเฟต และสภาพดินที่มีความเป็นกรดให้ใช้ปุ๋ยโดโลไมท์ โดยให้ก่อนหรือหลังใส่ปุ๋ยเคมีประมาณ ๑ เดือน เพื่อป้องกันการดูดตรึงธาตุอาหารไว้ในดินทำให้มะพร้าว ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ฤดูที่เหมาะสมที่สุดที่จะใส่ปุ๋ยให้เหมาะแก่มะพร้าว คือ ในช่วงต้นและปลายฤดูฝน เพราะในช่วงนี้มีความ ชื้นเพียงพอที่จะ ช่วยละลายปุ๋ยและรากของมะพร้าวกำลังเจริญอย่างเต็มที่สามารถ ดูดปุ๋ยไปใช้ได้ดี
*** จากการศึกษาพบว่า รากมะพร้าวที่สามารถใช้ประโยชน์จากปุ๋ยได้ดีจะอยู่บริเวณติดกับลำต้นและอยู่ ห่างจากลำต้นภายในรัศมี ๒ เมตร ดังนั้นการใส่ปุ๋ยตั้งแต่โคนต้นไปจนถึง ๒ เมตรโดยรอบ แต่ถ้าเป็นมะพร้าวที่ยังเล็กอยู่ควรหว่านปุ๋ยใกล้โคน มะพร้าวเพราะ รากยังน้อย หลังจากหว่านปุ๋ยแล้วควรพิจารณาดินตื้น ๆ ลึกประมาณ ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร เพื่อให้ปุ๋ยได้คลุกเคล้ากับดินและป้องกัน การชะล้าง
การเพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ ประเทศที่อยู่ในเขต ร้อน มักมีอินทรีย์วัตถุในดินน้อย และมีการสลายตัวเร็ว เพราะมีฝนตกชุกและอุณหภูมิสูงจุลินทรีย์ในดินจะเจริญเติบโต ได้ดีคอยย่อยสลายทำลายพวกอินทรีย์วัตถุอย่างรวดเร็ว ทำให้ดินขาดความร่วนซุย การระบายน้ำ ระบายอากาศไม่ดี ดังนั้น จึงต้องมีการเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน เช่น การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดที่ใช้ผลดี เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า แล้วไถกลบหรือใช้วิธีเลี้ยงสัตว์ในสวนมะพร้าวก็ได้
การกำจัดวัชพืช :
- ใช้แรงงานคน โดยการถางด้วยจอบ หรือดายด้วยมีด
- ใช้เครื่องทุ่นแรง เช่น รถตัดหญ้า รถไถขนาดเล็ก
- ปลูกพืชคลุมจำพวกหรือตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียมเพอร์ราเรีย หรือเซ็นโตรซีมา โดยปลูกห่างจากโคนต้นประมาณ ๒ เมตร
การเก็บเกี่ยวมะพร้าว :
มะพร้าวน้ำหอมเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตตลอดปี โดยสามารถเก็บผลมะพร้าวได้ประมาณ ๒๐ วันต่อครั้ง ใน ๑ ปีหากมะพร้าวแทงจั่นทุกครั้งที่ออกทาง ใหม่จะเก็บมะพร้าวได้ทั้งสิ้น ๑๖ ทะลายต่อต้น ซึ่งทะลายใหญ่ ๆ มีผลประมาณ ๑๐-๑๕ ผล ผลผลิตเฉลี่ยปีละ ๗๐-๑๐๐ ผลต่อต้น หรือประมาณ ๓๐๐๐-๔๐๐๐ ผลต่อไร่ ระยะที่เหมาะ สำหรับเก็บมะพร้าวมากที่สุดคือมะพร้าวเนื้อสองชั้นมีเนื้อเต็มกะลา เนื้อหนาอ่อนนุ่มซึ่งอายุหลังจากจั่นเปิดประมาณ ๒๐๐ – ๒๑๐ น้ำมีความหนาประมาณ ๖.๖-๗ เปอร์เซ็นต์บริกซ์ (ฺBrix)
ข้อสังเกตก่อนเก็บมะพร้าว :
สังเกตจากสีผลบริเวณรอยต่อผลกับขั้วผล ถ้าเห็นสีขาวเป็นวงกว้างแสดงว่ามะพร้าวอ่อนเกินไป แต่เมื่อส่วนสีขาวบริเวณรอยต่อเหลือเพียงเล็กน้อย แสดงว่าได้ระยะเก็บผลผลิต
เมื่อปอกเปลือกสีกร้านขึ้น เปลือกด้านในจะมีเสี้ยนหยาบขึ้นแต่เปลือกในยัง ไม่ถึงกับเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งเป็นมะพร้าวที่แก่เกินไป การเก็บมะพร้าวน้ำหอมเกษตรกรควร ใช้เชือกผูกทะลายแล้วหย่อนลงพื้น ซึ่งจะทำให้มะพร้าวไม่ช้ำหรือแตกเสียหายสามารถเก็บได้นานขึ้น และเป็นผลดีต่อการจำหน่ายยังตลาดต่อไป
ตลาดมะพร้าวน้ำหอมในประเทศ :
๑.ขายทั้งทะลาย
๒.มะพร้าวควั่น
๓.มะพร้าวเจียน
๔.มะพร้าวเผาเอามะพร้าวเจียนไปต้มในน้ำเดือด ๑๐ นาที นำไปผึ่งให้แห้งแล้วใช้ไฟจากหัวแก๊สเผาหัว และก้นมะพร้าวให้ดำพอประมาณ
๕.น้ำมะพร้าวพร้อมดื่ม โดยบรรจุในถุงหรือขวดที่สวยงามพร้อมจำหน่าย
ตลาดมะพร้าวน้ำหอมที่ส่งไปขายต่างประเทศ :
มีเพียงมะพร้าวควั่นและมะพร้าวเจียนเท่านั้น
การเพิ่มรายได้ในสวนมะพร้าว :
เนื่องจากมะพร้าวจะเริ่มให้ผลหลังจากปลูกไปแล้วประมาณ ๓-๔ ปี ดังนั้น ในขณะที่ต้นยังเล้กอยู่ จึงควรปลูกพืช แซมระหว่างแถวมะพร้าวประเภทพืชที่มีอายุสั้น อาจเป็นพืชไร่ เช่น สับปะรด ถั่วต่าง ๆ หรือพืชผัก เช่น ฟักทอง แตงกวา แตงโม ข้าวโพดหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ ถ้าหากมีผลพันธุ์ มะพร้าวจำนวนมาก ยังสามารถนำมาปลูกเป็นพืชแซม ระหว่างแถวของมะพร้าวโดยปลูกระยะชิดตั้งแต่ ๒ เมตรขึ้นไป ภายในระยะเวลา ๒-๓ ปี ก็สามารถ ตัดยอดไปขายได้สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรประมาณ ๑๐๐ บาท/ยอด ซึ่งปัจจุบันนี้กำลังเป็นที่นิยมรับประทาน เนื่องจากมีรสชาติดีและปลอดภัยจากสารเคมี

เทคนิคการปลูกมะพร้าวน้ำหอม
การ ปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดี ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบดังนี้ คือ เลือกที่ปลูก ดี ใช้พันธุ์ดี ปลูกถูกวิธี ดูแลรักษามะพร้าวให้สมบูรณ์ ปราศจากโรคและศัตรู ที่มารบกวนและแก้ไขอุปสรรคที่เป็นตัวการทำให้มะพร้าวออกผลน้อย ถ้าทำได้เช่น นี้ ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าต้นมะพร้าวจะออกผลให้ดกแน่นอน
การเลือกที่ปลูกมะพร้าว :
หลักทั่วไปในการเลือกที่ปลูกมะพร้าวควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ ฝน จะต้องมีปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,500 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิ การปลูกมะพร้าวให้ได้ผลดีอุณหภูมิควรอยู่ระหว่าง 20-27 องศาเซลเซียส แสงแดด ปริมาณแสงแดดที่เหมาะสม วันละ 1.7 ชม. ความสูงของพื้นที่ การทำสวนมะพร้าวเพื่อการค้าควรเลือกพื้นที่ไม่สูงเกิน 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ดินที่ใช้ปลูกมะพร้าว :
มะพร้าวสามารถขึ้นได้กับดินทุกชนิด ถ้าดินเหล่านั้นมีปุ๋ยดี มีความชุ่มชื้นพอเพียง
การปลูกมะพร้าว :
การเตรียมพื้นที่ปลูกมะพร้าว ถ้าเป็นพื้นที่ป่าควรถางพื้นที่ให้เตียน ถ้าเป็นที่ลุ่มต้องยกร่องปลูก ถ้าเป็นพื้นที่ลาดชันหรือบนเขาควรทำเป็นขั้นบันได ระยะปลูกมะพร้าว การปลูกมะพร้าวถี่มากเกินไปจะทำให้ออกผลไม่ดก แต่ถ้าปลูกห่างมากก็ได้ผลน้อย การปลูก ฤดูที่เหมาะสมสำหรับปลูกมะพร้าว ควรเริ่มปลูกในฤดูฝน โดยการขุดหลุมเล็กๆ ขนาดเท่าผลมะพร้าว แล้วเอามะพร้าววางลงในหลุ่มแล้วกลบและเหยียบดินข้างๆให้แน่น การดูแลรักษา ควรมีการไถพรวนระหว่างแถวมะพร้าวและไม่ลึกเกินไป ถ้าจะให้มะพร้าวเจริญงอกงามดีควรควบคุมวัชพืชในสวนมะพร้าว และควรมีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดบ้าง ส่วนปุ๋ยเคมีที่นิยมใส่ คือ 13-13-21 แต่อย่างไร ควรทำการตรวจวิเคราะห์ดินก่อนทำการใส่ปุ๋ย
โรคและแมลงที่สำคัญ :
โรค ประกอบไปด้วยโรคยอดเน่า โรคใบจุด โรคผลร่วง และโรคเอือนกิน แมลง ประกอบไปด้วย ด้วงแรด ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนาวมะพร้าว หนอนจั่นมะพร้าว หนอนร่านกินใบมะพร้าว
พันธุ์มะพร้าว :
มะพร้าวน้ำหอม จัดอยู่ในกลุ่มมะพร้าวพันธุ์ต้นเตี้ยหรือที่รู้จักกันในชื่อมะพร้าวหมูสี มีหลายพันธุ์ เช่น มะพร้าว น้ำหอม มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ลำต้นขนาดเล็กไม่มีสะโพก ทางใบและใบย่อยสั้น มีอายุตกจั่นเร็ว ความหอมของมะพร้าวน้ำหอม จะพบว่ามีส่วนที่เราสามารถทดสอบความหอมได้ เช่น ปลายรากอ่อนของหน่อมะพร้าว กะลาของผลอ่อน น้ำ และเนื้อมะพร้าว สาเหตุที่มะพร้าวน้ำหอมไม่หอม ปัญหาที่ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมพบบ่อยๆ คือ ความหอมจะหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุถึงแม้ว่าหน่อพันธุ์ที่ปลูกจะเป็นพันธุ์แท้ และเคยให้ความหอมมาก่อน เกิดจากบริเวณแปลงปลูกอาจมีต้นมะพร้าวใหญ่หรือมะพร้าวน้ำหวานปนอยู่ทำให้ เกิดการผสมข้ามของละออกเกสร จากการวิจัยพบว่า มะพร้าวน้ำหอมที่ผสมกับมะพร้าวใหญ่และมะพร้าวน้ำหวาน ผลมะพร้าวจะไม่มีความหอม แต่ถ้าผสมตัวเองหรือผสมกับมะพร้าวน้ำหอม ผลมะพร้าวที่ได้จะมีความหอมไม่เปลี่ยนแปลง
การเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม :
ปัจจัยที่สำคัญต่อการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม ได้แก่ พันธุ์ อายุหรือความแก่ของผล สภาพความสมบูรณ์ของผลมะพร้าว ธาตุอาหารพืช อุณหภูมิ น้ำ และแสงแดด
เทคนิคการเพาะต้นกล้ามะพร้าวน้ำหอม :
การคัดเลือกผลมะพร้าว ผลมะพร้าวต้องสมบูรณ์และตรงตามพันธุ์ ปราศจากโรคและแมลง รวมทั้งผลมีอายุพอดีไม่อ่อนหรือแก่เกินไป
การเตรียมพื้นที่ : ควรปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นราบสม่ำเสมอและควรมีร่องระบายน้ำ
การปาดผล : ควรทำการปาดผลออกประมาณ 1 ใน 4-5 ส่วนของผล เพื่อให้น้ำซึมเข้าในส่วนของกาบมะพร้าวได้
การวางผล : นำผลที่ปาดแล้วมาเรียงเป็นแถวๆ แบบสลับฟันปลา โดยให้ส่วนที่ปาดอยู่ด้านบน
การคลุมผลมะพร้าว : ส่วนใหญ่นิยมใช้ขุยมะพร้าวคลุมผลเพื่อรักษาความชื้น
การรดน้ำ : ควรรดน้ำให้ชุ่มชื้นและมีความชุ่มชื้นสม่ำเสมอตลอดเวลา
การย้ายต้นกล้า : ควรให้ต้นกล้ามีความแข็งแรงก่อน
การวิจัยเทคโนโลยีการผลิตต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพ :
การทดลองนี้ศึกษาถึงปริมาณแสง ชนิดของวัสดุเพาะ อายุและขนาดผล ที่มีผลต่อการงอก และการเจริญเติบโตของต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม โดยแบ่งพื้นที่การทดลองออกเป็น 2 แหล่ง คือ แปลงเกษตรกรอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร และแปลงภายในสถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผลการศึกษา พบว่า การเพาะชำมะพร้าวน้ำหอมในโรงเรือนตาขายพรางแสง 50 เปอร์เซ็นต์มีเปอร์เซ็นการงอกที่สูง และผลมะพร้าวที่มีลักษณะเปลือกชั้นนอกมีสีน้ำตาลและมีความยาวของเส้นรอบผล มากว่า 57 เซนติเมตร ที่เพาะชำในขุยมะพร้าวหรือมีขุยมะพร้าวเป็นส่วนผสม มีแนวโน้มมีเปอร์เซ็นต์การงอกของผล ความสูงของต้นกล้า น้ำหนักของต้นกล้า ความยาวของราก จำนวนราก ความยาวของเส้นรอบโคนต้นกล้า และคะแนนความสมบูรณ์ของต้นกล้า มากที่สุด

No comments:

Post a Comment