Monday, January 25, 2016

yam bean

มันแกว (Yam bean) เป็นพืชตระกูลถั่วที่รู้จักกันทั่วไปในหัวมันแกว นิยมนำหัวมาบริโภคเป็นอาหาร ของว่าง รวมถึงฝักอ่อนที่นำมาประกอบอาหารได้ แต่เมล็ดฝักแก่มีพิษถึงชีวิต พบปลูกมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเกษตรกร สามารถสร้างรายได้หลักหรือปลูกเป็นรายได้เสริมหลังการปลูกพืชไร่ชนิดอื่น
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pachyrrhizus erosus Urban
• ชื่อวงศ์ : Leguminosae
• ชื่อภาษาอังกฤษ :
– แยมบีน (Yam bean)
– จิกามา (Jicama)
• ชื่อท้องถิ่น :
– เครือเขาขน
– ถั่วบ้ง
– ถั่วกันตัง
– ถั่วบัง
– หมากบัง
– ถั่วกินหัว
– เครือเขาขน
– มันละแวก
– ละแวก
– มันแกวลาว
– มันลาว
มันแกวจัดเป็นพืชไร่ ตระกูลถั่วที่มีถิ่นกำเนิดในแถบทวีปอเมริกา มีหัว และเมล็ดเป็นผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะส่วนหัวที่เป็นผลิตหลักในการปลูกของเกษตรกร เนื่องจากส่วนหัวมันแกวมีการสะสมแป้ง และน้ำตาลไว้ ให้รสหวาน กรอบ จึงนิยมนำมาบริโภคได้โดยตรงหรือนำมาประกอบอาหาร
?????????
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้น
มันแกวเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นเป็นเถาเลื้อยยาวไปตามดินหรือกิ่งไม้ ยาวได้มากกว่า 3-10 เมตร ลักษณะลำต้นเป็นเถาสีเขียวอ่อน เขียวแก่จนถึงเขียวออกน้ำตาลตามอายุของต้น และมีขนปกคลุม
Yam-bean2
ใบ
ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบ ในก้านใบเดียวกันเหมือนกับใบถั่วเหลืองหรือถั่วฝักยาว ลักษณะใบเมื่ออ่อนจะบางอ่อน มีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีลักษณะหนาหยาบ สีเขียวเข้ม ปลายใบไม่เรียบ ใบประกอบแต่ละใบ ยาว 1 ถึง 6 นิ้ว เรียงซ้อนกัน ใบกลางจะสูงกว่า
ดอก
ดอก กลีบดอกใหญ่ มีสีม่วงแกมน้ำเงินหรือสีขาว ยาว 5/8 – 7/8 นิ้ว ช่อดอกจะออกเดี่ยว ๆ ที่ซอกใบมีขนสีน้ำตาล
OLYMPUS DIGITAL CAMERA
ฝัก และเมล็ด
ผลเป็นฝัก แบน ตรง มีลักษณะเรียวยาว มีขนเล็กน้อย ฝักอ่อนจะมีสีเขียว และสีเขียวแก่ สีน้ำตาล จนถึงสีดำเมื่อแก่ ยาวประมาณ 3 – 5.5 นิ้ว กว้าง 1/2 -5/8 นิ้ว ภายในฝักจะประกอบด้วยเมล็ดประมาณ 4 – 9 เมล็ด มีลักษณะรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1/4 ยาวประมาณ 3/8 นิ้ว เมล็ดแก่จะมีพิษอันตรายถึงเสียชีวิตหากรับประทาน
Yam-bean4
Yam-bean5
ราก และหัว
รากที่ติดกับลำต้นซึ่งเรียกว่า หัวหรือหัวมันแกวมีลักษณะเป็นหัวใหญ่ ผิวเรียบ มีรูปร่างไม่แน่นอน เป็นส่วนที่สะสมอาหาร โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และน้ำ
สารสำคัญในมันแกว
ลักษณะเมล็ดภายในเมื่อผ่าออกจะมีเนื้อสีเหลือง ประกอบด้วย
• คาร์โบไฮเดรต
• ไขมัน
• albuminoids limpid oil (38.4%)
• สารพิษในกลุ่ม isoflavonoid ได้แก่
– erosin
– pachyrrhizone
– pachyrrhizin
– rotenone
• สารเคมีอื่นๆ ได้แก่
– 12-(A)- hydroxypachyrrhizone
– 12-(A)-hydroxy lineonone
– 12-(A)-hydroxymundu- serone
– dolineone
– erosone
– dehydropachyrrhizone
– erosenone
– neodehydrorotenone
– saponins A และ B เป็นพิษทำให้ปลาตายได้
ส่วนของเนื้อหัวมันแกว พบสารอาหารสำคัญ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต 78.5 % ส่วนของเมล็ดพบไขมัน 7.3 % และ Albuminoid 3.7 % ที่มีองค์ประกอบของสารมีพิษหลายชนิด
สรรพคุณทางยา
เนื้อของมันแกวใช้รับประทานเพื่อช่วยลดพิษ ลดไข้ อาการปวดศีรษะ แก้ความดันโลหิตสูง ใช้แก้พิษสุราเรื้อรัง แก้เลือดออกตามไรฟัน บำรุงร่างกาย เนื่องด้วยมีวิตามินซีมากพอสมควร (หัวมันแกว 100 กรัม มีวิตามินซีประมาณ 15 มิลลิกรัม)
ในส่วนเมล็ดแก่ของมันแกว ห้ามรับประทานในปริมาณมากโดยเด็ดขาด เนื่องจากประกอบด้วยสารพิษหลายชนิดที่สามารถทำให้เสียชีวิตได้ แต่มีการศึกษา และบางท้องถิ่นนำมาบดเพื่อใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
การรับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดสามารถช่วยเป็นยาระบาย ยาถ่ายพยาธิ แต่มักมีอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศรีษะ
ในประเทศอินโดนีเซียมีการใช้ผงจากเมล็ดมันแกวทาผิวหนังเพื่อลดอาการระคายเคือง ผื่นคัน รักษาแผล แผลพุพอง เป็นหนองบริเวณผิวหนังได้
ประโยชน์มันแกว
การปลูกมันแกวมักปลูกเพื่อการเก็บผลิตจากส่วนหัวเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เป็นหลัก ส่วนเมล็ดพบเพียงบางพื้นที่ที่ต้องการเก็บเมล็ดสำหรับเป็นเมล็ดพันธุ์ และการนำเมล็ดไปใช้ประโยชน์ในเรื่องยาต่างๆ
หัวมันแกวนิยมใช้เป็นอาหารบริโภคเป็นอาหารหรือนำมาประกอบอาหาร แต่ทั่วไปนิยมรับประทานหัวสดซึ่งมีรสหวาน และกรอบ ซึ่งหัวมันแกวจะมีปริมาณแคลเซียม และเหล็กสูง นอกจากนั้น เนื้อมันแกวประกอบด้วยเส้นใยสูง ช่วยในการขับถ่าย และมีน้ำเป็นองค์ประกอบมากทำให้ช่วยแก้กระหายได้ดี
ประโยชน์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พบสารสกัดจากเมล็ดมันแกวที่ีมีสาร rotenone และ saponins มีออกฤทธิ์ฆ่าแมลงได้ นอกจากนั้นมีการนำผงเมล็ดมันแกวที่บดให้ละเอียด 0.5 กก. ละลายน้ำ 1 ปี๊บ และแช่ทิ้งไว้ 2 วัน แล้วนำมากรองเอาสารละลายฉีดพ่นพืชผัก พบว่า สามารถกำจัดเพลี้ย และหนอนหลายชนิดได้
พิษของมันแกว
ส่วนของใบมีสารพิษ glycoside ชื่อ pachyrrhizin ออกฤทธิ์คล้ายสาร derris ในหางไหล ใช้เป็นยาเบื่อปลา สุนัข และมีพิษต่อโค และกระบือ รวมถึงสัตว์กินพืชทุกชนิด
สารที่ทำให้เกิดพิษ ฝักอ่อนของมันแกวสามารถรับประทานได้ แต่เมื่อแก่จะเป็นพิษ โดยเฉพาะที่เมล็ดของมันแกวมีสารที่มีฤทธิ์เป็นยาฆ่าแมลงหลายชนิดได้แก่
– pachyrrhizin
– pachyrrhizone
– 12-(A)-hydroxypachyrrhizone
– dehydropachyrrhizone
– dolineone
– erosenone
– erosin
– erosone
– neodehydrorautenone
– 12 -(A)-hydroxy lineonone
– 12-(A)-hydroxymundu-serone
– rotenone
นอกจากนี้ยังมีสาร saponin ได้แก่ pachysaponins A และ B ซึ่งละลายน้ำได้ และเป็นพิษต่อปลาทำให้ปลาตาย
สารพิษ rotenone หากรับประทานเมล็ดเข้าไป จะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่อระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่หากได้รับพิษของ rotenone ทางการหายใจอาการของพิษจะรุนแรงกว่า เพราะจะเกิดการกระตุ้นระบบการหายใจ การกดการหายใจ ทำให้ชัก และเสียชีวิตได้ นอกจากนั้น พิษจากเมล็ดยังมีฤทธิ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก
มีการทดสอบพิษกับหนูทดลอง พบว่า ทำให้หนูหายใจลำบาก และตายในที่สุด อันเกิดจากสารพิษ pachyrrhizin ที่มีผลมากต่อระบบประสาท โดยเฉพาะระบบหายใจ (respiratory system) และกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง
การใช้ประโยชน์จากพิษของเมล็ดมันแกว สามารถใช้เป็นสารฆ่าแมลง ยาเบื่อปลา เบื่อสุนัข แต่นิยมใช้สารสกัดจากเมล็ดมันแกวในการกำจัดแมลงหลายชนิด เช่น หนอนกะหล่ำ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก ด้วงหมัดกระโดด มวนเขียว เพลี้ยอ่อน และหนอนผีเสื้อ ด้วยการนำเมล็ดครึ่งกิโลกรัม หรือ 1 กิโลกรัม มาบดให้ละเอียด และแช่น้ำประมาณ 20-30 ลิตร นาน 1-2 วัน แล้วกรองเอาเฉพาะน้ำ นำไปฉีดพ่นกองขยะทำให้แมลงวันหนีหรือนำมาฉีดพ่นในแปลงผักเพื่อกำจัดหนอน และแมลง
การศึกษาของ น.พ. บริบูรณ์ พรพิบูลย์ (2502) พบว่า สารสกัดจากเมล็ดมันแกว ทำให้หนูตะเภาตายได้ โดยออกฤทธิ์กดระบบการหายใจ ทำให้การหายใจล้มเหลว และตายในที่สุด
ส่วนที่มีพิษของฝัก และเมล็ดที่มีต่อคน ซึ่งพบรายงานอันตรายจากพิษจากการรับประทานฝัก และเมล็ดมันแกวในหลายท้องที่ในไทย ได้แก่
1. พบผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน เชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่นำฝักมันแกวมาต้มรับประทานจำนวน 4 ฝัก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อค หมดสติ หยุดหายใจ โดยแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือ และรักษาอาการ ด้วยการให้น้ำเกลือ และการปั๊มหัวใจจนทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น แต่พบว่าผู้ป่วยมีอาการทางสมองจากการหยุดหายใจชั่วขณะ
2. พบผู้ป่วยเพศชาย อายุ 28 ปี ที่ได้กินเมล็ดมันแกวประมาณ 200 กรัม เข้าไป โดยมีอาการหลังรับประทานประมาณ 2 ชั่วโมง คือ มีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลาย ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สามารถก้าวเดิน และทรงตัวได้ มีอาการหน้าซีด อาการชักกระตุกที่มือ และเท้า ไม่สามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ มีอาการท้องเสีย ต่อมาได้เสียชีวิตหลังรับประทานเมล็ดมันแกวไปแล้ว 11 ชั่วโมง
3. มีรายงานว่าถ้ารับประทานเมล็ดมันแกวเพียงครึ่งเมล็ดจะเป็นยาระบาย และบางแห่งใช้เป็นยาขับพยาธิ นอกจากนี้ ยังเกิดอาการของพิษเรื้อรังที่ส่งผลต่อการทำงานของตับ และไต
ส่วนพิษของสาร saponin เป็นสารที่ทราบกันดีว่า ทำให้เยื่อบุทางเดินระคายเคืองร่วมด้วยกับอาการคลื่นไส้จนเกิดอาเจียน รวมถึงปวดแน่นท้อง และเกิดอาการลำไส้อักเสบ และในบางรายเกิดอาการรุนแรงมาก จนทำให้ระบบกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถทรงตัวได้ ระบบไหลเวียนโลหิตผิดปกติและทำให้ชักได้
อาการจากพิษ และการรักษาพิษเมล็ดมันแกว
อาการเมื่อได้รับพิษหลังจากรับประทานเมล็ดมันแกวไป 1-2 ชั่วโมง จะทำให้เกิดอาการแสบร้อนที่ท้องบริเวณกระเพาะอาหาร มีอาการปวดหัว วิงเวียน ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ตอมาทีอาการท้องร่วง ปวดท้องร่วมด้วย ถ้าได้รับสารพิษมาก อาการจะรุนแรงขึ้นจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ทรงตัว และเดินไม่ได้ ระบบไหลเวียนเลือด และระบบการหายใจผิดปกติ มีอาการชัก หยุดหายใจ และเสียชีวิตตามมา
การรักษา
1. เมื่อพบผู้ป่วยรับประทานฝักหรือเมล็ดมันแกวให้รีบล้างท้องทันที ด้วยการทำให้อาเจียน และดื่มน้ำตามพร้อมทำอาเจียน 2-3 รอบ ควรระวังไม่ให้ใช้เวลาทำอาเจียนนานหลังดื่มน้ำ เพราะอาจทำให้พิษกระจายมากขึ้น
2. หลังจากทำอาเจียนให้กินไข่ขาว และรีบนำส่งโรงพยาบาล
3. หากพบผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ทรงตัว และเดินไม่ได้ มีอาการชัก ให้รีบนำส่งแพทย์ทันที หากหยุดหายใจ ต้องรีบช่วยการหายใจให้ได้ก่อน และรีบนำส่งแพทย์
การปลูกมันแกว
มันแกวจัดเป็นไม้เถา เลื้อยพันตามพื้นดินหรือกิ่งไม้ ไม่ชอบดินชื้นแฉะ มีน้ำขัง ดินเหนียวจัด หน้าแน่นแน่น จึงเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ดินเหนียวปนทราย ดินร่วนปนทราย ดินทราย สามารถทนต่อลักษณะอากาศ และดินที่แห้งแล้งได้ดี ปัจจุบันพบมีการปลูกเกือบทั่วประเทศ มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในภาคกลาง ได้แก่ สระบุรี ชลบุรี สมุทรสาคร รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉพียงเหนือ ได้แก่ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองคาย ส่วนภาคอื่นมีปลูกน้อย พบในบางจังหวัดเท่านั้น
Yam-bean6
การปลูกมันแกว นิยมปลูกในช่วงต้นฤดูฝนหรือหากมีน้ำชลประทานก็สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี การปลูกจะใช้วิธีการปลูกด้วยเมล็ดเท่านั้น แต่มีบางครั้งที่ปลูกโดยใช้หัวเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ และรักษาลักษณะที่ดีไว้
การปลูกจะปลูกด้วยการหยอดเมล็ดหลุมละ 2-3 เมล็ด ระยะระหว่างแถว 15 x 15 เซนติเมตร โดยวิธีการปลูกด้วยการยกร่องเหมือนการปลูกมันสำปะหลัง โดยมีระยะระหว่างร่อง 80-100 เซนติเมตร โดยชนิดหัวเล็ก ระยะห่างระหว่างต้น 10-20 เซนติเมตร ชนิดหัวใหญ่ ระยะห่างระหว่างต้น 30-50 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 8 กิโลกรัม หรือประมาณครึ่งถัง
ต้นมันแกวปกติต้องกำจัดวัชพืช 2-3 ครั้ง สำหรับการปลูกมันแกวในฤดูแล้งไม่ให้น้ำ ไม่ต้องพรวนดินและกำจัดวัชพืช
ในช่วงการเจริญเติบโตเต็มที่ประมาณ 2-3 เดือน จำเป็นต้องเด็ดยอด และดอก โดยเฉพาะการปลูกนอกฤดูฝนที่ต้นเติบโตได้รวดเร็ว ด้วยวิธีการเด็ดหรือบางพื้นที่ใช้ไม้เรียวฟาดให้ยอดหรือดอกขาดออก หากไม่เด็ดยอดจะทำให้ต้นเติบโตมากทำให้มีหัวเล็ก ส่วนการปลูกเพื่อเก็บเมล็ดทำพันธุ์ ไม่ต้องเด็ดยอด และดอก ให้ปล่อยต้นเจริญเติบโตตามปกติ
การใส่ปุ๋ย ให้ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-8-8 ในระยะเริ่มแรก และสูตร 12-12-24 ในช่วงต้นเจริญเติบโต 2-3 เดือน ในอัตรา 50-65 กิโลกรัม/ไร่ นอกจากนี้ ควรใช้ปุ๋ยคอกที่เป็นมูลสัตว์ในท้องถิ่นร่วมด้วย ในอัตรา 1-3 ตัน/ไร่

No comments:

Post a Comment